วันเสาร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ดาวฤกษ์

ดาวฤกษ์ คือวัตถุท้องฟ้าในอวกาศที่เป็นก้อนแก๊สมวลมหาศาล ดาวฤกษ์ปรากฏเป็นจุดแสงในท้องฟ้าเวลากลางคืน เราเห็นแสงดาวกะพริบ จากผลของปรากฏการณ์ในบรรยากาศโลก และการที่ดาวฤกษ์อยู่ห่างไกลจากเรามาก ยกเว้นกรณีของดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นดาวฤกษ์ดวงเดียวที่อยู่ใกล้โลกมาก จนปรากฏเป็นดวงกลมโตให้แสงสว่างในเวลากลางวันดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุดยกเว้นดวงอาทิตย์ คือ ดาวพร็อกซิมาคนครึ่งม้า อยู่ห่าง 39.9 ล้านล้านกิโลเมตร = 4.2 ปีแสง = 1.29 พาร์เซก หมายความว่าแสงจากดาวพร็อกซิมาคนครึ่งม้าใช้เวลาเดินทาง 4.2 ปี จึงมาถึงโลก
นักดาราศาสตร์ประมาณว่ามีดาวฤกษ์อย่างน้อย 7 × 1022 ดวงในเอกภพ หรือ 70,000,000,000,000,000,000,000 ดวง มากกว่า 230,000 ล้านเท่าของดาวฤกษ์ 300,000 ล้านดวงในดาราจักรทางช้างเผือกของเราเอง
ดาวฤกษ์จำนวนมากมีอายุระหว่าง 1,000 - 10,000 ล้านปี บางดวงมีอายุเกือบ 13,700 ล้านปี ซึ่งเป็นอายุโดยประมาณของเอกภพ (ดู ทฤษฎีบิกแบงและวิวัฒนาการของดาวฤกษ์)
ดาวฤกษ์มีขนาดตั้งแต่เล็กกว่าเมืองๆ หนึ่งอย่างดาวนิวตรอน (ซึ่งอาจกล่าวว่าเป็นดาวที่ตายแล้ว) ไปจนถึงดาวยักษ์ใหญ่อย่างดาวเหนือ (ดาวโพลาริส) และดาวบีเทลจุสในกลุ่มดาวนายพราน ที่มีขนาดประมาณ 1,000 เท่าของดวงอาทิตย์ อย่างไรก็ตาม ดาวขนาดใหญ่จะมีความหนาแน่นน้อยกว่าดวงอาทิตย์มาก ดาวฤกษ์ที่มีมวลสูงที่สุด คือ HD 269810 ในกลุ่มดาวปลากระโทงแทง มีมวล 150 เท่าของมวลดวงอาทิตย์
วิทยาศาสตร์นิยามว่าดาวฤกษ์ คือ ทรงกลมพลาสมาที่คงอยู่ได้ด้วยความโน้มถ่วงของตัวเอง มีสภาวะสมดุลอุทกสถิต ผลิตพลังงานด้วยกระบวนการการหลอมนิวเคลียส พลังงานที่เกิดขึ้นในดาวฤกษ์แผ่ไปในอวกาศโดยการแผ่รังสีแม่เหล็กไฟฟ้า (ส่วนใหญ่เป็นแสงสว่างที่มองเห็นได้) อยู่ในรูปของกระแสนิวตริโน ความสว่างปรากฏของดาวฤกษ์บอกด้วยโชติมาตรปรากฏ ดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดที่เห็นปรากฏบนท้องฟ้าโดยไม่นับดวงอาทิตย์ คือ ดาวซิริอุส หรืออีกชื่อคือดาวโจร อยู่ในกลุ่มดาวสุนัขใหญ่ ส่วนดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดที่มองไม่เห็นเคยเชื่อว่าคือ ดาวปืน แต่ในปัจจุบันพบว่ามีดาว LBV 1806-20 ที่สว่างมากกว่า
ดาราศาสตร์ดาวฤกษ์ คือ การศึกษาดาวฤกษ์และปรากฏการณ์ในรูปแบบและช่วงต่างๆ ของวิวัฒนาการของดาว ดาวฤกษ์จำนวนมากผูกยึดด้วยแรงโน้มถ่วงกับดาวฤกษ์ดวงอื่น ทำให้เกิดดาวคู่ หากมีดาวจำนวนมากในระบบเดียวกันเรียกว่ากระจุกดาว ดาวฤกษ์ไม่ได้กระจัดกระจายไปทั่วทุกพื้นที่ของเอกภพ แต่รวมกลุ่มกันเป็นดาราจักร โดยทั่วไปแต่ละดาราจักรมีดาวฤกษ์หลายแสนล้านดวง